นาฬิกา

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานประทับรอยพระบาทในวันที่ 27 ก.พ. 2525

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานประทับรอยพระบาทในวันที่ 27 ก.พ. 2525
       หลายต่อหลายครั้งที่ขึ้นเหนือไปแอ่วเชียงราย ผมเคยเจอทั้งการ “หลงทาง” และ “หลงเธอ” แถมบางครั้งยังหลงเธอจนทำให้หลงทางอีกต่างหาก
     
       แต่ถ้าหากบอกว่า“หลงถัง”นี่ ผมไม่คุ้นกับชื่อนี้เลยจริงๆพับผ่าสิ
     
       ดอยพญาพิภักดิ์ 
     
       หลงถังคือชื่อของ “ภูหลงถัง” แหล่งท่องเที่ยวเปิดใหม่ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งทางททท.เชียงราย ได้ชูกิจกรรม“เที่ยวสามภู ในหนึ่งวัน”ขึ้น ด้วยการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ระหว่าง ภูชี้ฟ้า-ภูผาตั้งหรือดอยผาตั้ง และภูหลงถัง ที่ตั้งอยู่ ณ ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล(อดีตอยู่ใน อ.เทิง)
พสกนิกรมาเฝ้ารอรับเสด็จฯในหลวงที่ดอยพญาพิภักดิ์
       หลงถังเป็นชื่อเก่าดั้งเดิมของ“ดอยพญาพิภักดิ์” ดอยที่มีชื่อมาจากชื่อของหมู่บ้านพญาพิภักดิ์ หมู่บ้านเก่าแก่ของชุมชนชาวม้งที่มี “พญาพิภักดิ์” หรือ “ปะตุ๊ แซ่ย้ง”(ชาวม้ง)เป็นหัวหน้าชุมชน
     
       ดอยพญาพิภักดิ์นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เนื่องจากในยุคสงครามเย็นที่มีการรบพุ่งกันระหว่างรัฐบาล(ทหาร)ไทยกับกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-พคท.) และชาวบ้านในพื้นที่ที่หลายๆคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐผลักไสให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ในพื้นที่ดอยยาว-ดอยผาหม่น บนดอยพญาพิภักดิ์ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นพื้นที่สีแดง(คนละแดงกับปัจจุบัน)ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งกองกำลังเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนเกิดเสียงปืนแตกนำสู่การต่อสู้ที่ยืดเยื้อขึ้น
     
       จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524 พันโทวิโรจน์ ทองมิตร ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 473 ได้นำกำลังพลเข้าปฏิบัติการในยุทธการยึดเนิน 1188 บนดอยพญาพิภักดิ์ จนสามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่นั้นลงได้
     
       แต่การสู้รบครั้งนั้น เหล่าทหารหาญก็ได้พลีชีพเพื่อชาติไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จฯไปเยี่ยมเยียนเหล่าทหารหาญและพสกนิกรแล้ว ณ ฐานปฏิบัติการพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว ท่ามกลางหมู่ชาวบ้านที่เดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จฯเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525
รอยพระบาทในหลวง ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ค่ายเม็งรายมหาราช
       นอกจากนี้ในการเสด็จฯครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่ทางทหารได้จัดเตรียมไว้ ตามคำกราบบังคมทูลของพันโทวิโรจน์ ที่ศาลาบนดอยพญาพิภักดิ์
     
       ในเรื่องนี้ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้บันทึกเอาไว้ว่า(คัดลอกจากหนังสือ “เที่ยวตามพ่อ” สนพ.อัศเจรีย์)
     
       ...เมื่อพระองค์ท่านถอดรองพระบาท(รองเท้า)ได้เผยให้เห็นถึงถุงพระบาทที่ขาด ก่อนจะถอดถุงพระบาท และได้ประทับพระบาทลงในเบ้าพิมพ์ที่เป็นปูนปลาสเตอร์ผสมหมาดๆ 
     
       ถุงพระบาทนั้น คือสิ่งที่ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์คือ ทรงเป็นทั้งนักทฤษฎีและปฏิบัติ พระองค์น่าจะมิใช้พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงครองสิริราชสมบัติยาวนานแต่เพียงสถานเดียว แต่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเรียบง่าย สมถะ รู้จักคุณค่าของการใช้ สิ่งของมากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ใดในโลก หรือยิ่งกว่าสามัญชนแม้กระทั่งพสกนิกรมากหลายที่ยังดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องมีความพอเพียงเช่นนั้นไม่ได้...
     
       นอกจากนี้ในการเสด็จฯครั้งนั้น แม้สถานการณ์ควันไฟจากการสู้รบจะเพิ่งสงบได้หมาดๆ ยังคงสุ่มเสี่ยงต่อภยันอันตราย เพราะในเขตพื้นที่ดอยพญาพิภักดิ์(เขตงานที่ 8)ถือเป็นหนึ่งในเขตที่มีความรุนแรงที่สุด เพราะเป็นประตูในปฏิบัติการประสานกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ในไทย ลาว และ เวียดนาม แต่ด้วยน้ำพระทัยอันกล้าหาญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ท่านทรงรับการมอบตัวและมอบอาวุธต่อกองกำลังฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเพื่อรับเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้ความขัดแย้งยุติลง ความสงบสันติสุขกลับคืนมา
ในวันฟ้าเปิด ณ ลานชมวิว ภูหลงถังสามารถมองเห็นภูชี้ฟ้า(ยอดแหลม)ได้อย่างชัดเจน
       สำหรับการมอบอาวุธครั้งนั้น หนึ่งในผู้ที่ออกจากป่ามาเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทยก็คือ “สหายด้วย” หรือชัยยุทธ อนุสรณ์ศิลปะ ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวงแห่ง ม.13 ต.ยางฮอม
     
       สหายด้วยรำลึกความหลังเมื่อครั้งออกจากป่าให้ผมฟังด้วยความซาบซึ้งว่า เป็นเพราะพระบารมีของในหลวงที่ทรงมายุติความขัดแย้ง จึงทำให้เขาได้ออกจากป่ามาใช้ชีวิตตามปกติ นับเป็นพระมหากรุณาอันล้นพ้น
     
       ภูหลงถัง 
     
       หลังเหตุการณ์สงบ ดอยพญาพิภักดิ์ก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมา และด้วยสภาพพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,200 เมตร ทำให้ดอยพญาพิภักดิ์ที่ตอนหลังนิยมเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า“ภูหลงถัง” ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย
     
       บนยอดภูแห่งนี้น่ายลไปด้วยวิวทิวทัศน์อันงดงาม โดยเฉพาะบนลานชมวิวในวันที่ฟ้าเปิดสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เบื้องล่างได้อย่างกว้างไกล อีกทั้งยังสามารถมองไปเห็นยอดแหลมๆที่ชี้ขึ้นไปทิ่มแทงฟ้าของภูชี้ฟ้าได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
สระมังกร
       ขณะที่จุดท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของภูแห่งนี้ก็คือ “สระมังกร” ที่เป็นตาน้ำผุดตามธรรมชาติบนยอดเขาจนเกิดเป็นสระน้ำขนาดย่อมขึ้นมา
     
       สระมังกรแห่งนี้เป็นที่มาของชื่อภูหลงถัง(ที่ถือเป็นสิ่งคาใจผมนับตั้งแต่ได้ยินชื่อนี้ครั้งแรก) ซึ่งสหายด้วยได้ไขความกระจ่างให้ผมฟังว่า ในยุคที่มีการสู้รบทางกองกำลังชาวทหารจีนคณะชาติ(กองพล 93) ที่อพยพเข้ามาอยู่แถบทางภาคเหนือของเมืองไทยได้นำกำลังพลเข้ามาร่วมรบกับรัฐบาลไทย แล้วเห็นว่าที่นี่มีสระน้ำที่เกิดจากตาน้ำผุดตามธรรมชาติ จึงตั้งชื่อตามความเชื่อแบบคนจีนว่า“หลงถัง”ที่หมายถึง “สระมังกร” อันเป็นที่มาของชื่อภูหลงถังดังในปัจจุบัน
ศาลาประทับรอยพระบาท วนอุทยานพญาพิภักดิ์
       นอกจากลานชมวิวและสระมังกรแล้วบนภูหลงถังยังมี แปลงไร่กุหลาบ สวนกาแฟ วิถีชีวิตวัฒนธรรม และหมู่บ้านประวัติศาสตร์ให้สัมผัสเที่ยวชมกัน รวมไปถึง “วนอุทยานพญาพิภักดิ์” ที่ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ไฮไลท์สำคัญของภูแห่งนี้
     
       วนอุทยานพญาพิภักดิ์ เป็นสถานที่ที่ในหลวงเคยเสด็จมาพระราชทานประทับรอยพระบาทที่ดอยพญาพิภักดิ์แห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ยังได้เรียกขานรอยพระบาทของพ่อหลวงในอีกชื่อหนึ่งว่า “รอยพระบาทแห่งสันติสุข
     
       สำหรับรอยพระบาทในหลวงที่ประทับ ณ ดอยพญาพิภักดิ์นั้น มี 2 รอยด้วยกัน รอยแรก เกิดจากการประทับรอยครั้งแรก เป็นรอยที่ประทับไม่สมบูรณ์ เพราะปูนมีน้ำมากเกินไป ถูกนำไปเก็บไว้กับครอบครัวหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนอีกรอย เป็นการประทับครั้งที่สอง เป็นรอยที่สมบูรณ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ศาลารอยพระบาท ค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมือง จ.เชียงราย
ภาพถ่ายรอยพระบาทในศาลาประทับรอยพระบาท
       แต่...นับเป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ “ศาลาประทับรอยพระบาท” บนวนอุทยานพญาพิภักดิ์ ไม่มีรอยจริงให้สักการะสักรอย มีแต่จุดที่ในหลวงเสด็จมาประทับรอยพระบาทที่มีการปลูกต้นไม้ล้อมรอบไว้ กับภาพถ่ายรอยพระบาทให้ยลเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านที่นี่ภายใต้การนำของสหายด้วยได้พยายามที่จะไปยื่นหนังสือทำเรื่องขอคืนรอยพระบาทรอยแรกยังบ้านที่นำไปเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แต่สุดท้ายสหายด้วยกับโดนแจ้งความในข้อหาบุกรุกเสียนี่
     
       อย่างไรก็ตามกับเรื่องนี้ได้มีผู้แนะนำว่า ทางจังหวัดเชียงรายควรทำจดหมายถึงทางสำนักพระราชวังเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตหล่อรอยพระบาทในหลวงจำลองขึ้นมาใหม่ ที่หากสามารถทำได้ก็ถือเป็นการหาทางออกที่ดีทีเดียว เพราะรอยพระบาทในหลวงถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจของชาวบ้านที่นี่ อีกทั้งนี่ยังเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนขึ้นมาสักการะเที่ยวชมรอยพระบาทในหลวง(เสมือนจริง)ในสถานที่จริงอีกด้วย
ส่วนหนึ่งของผืนป่าที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ท่ามกลางบริเวณรอบข้างที่โดนแผ้วถาง
       นอกจากรอยพระบาทในหลวงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นการแสดงถึงความเคารพเทิดทูนต่อในหลวงแบบเป็นรูปธรรมของบ้านที่นี่ก็คือ “ป่าในหลวง
     
       สหายด้วยบอกกับผมว่า เมื่อครั้งที่ในหลวงเสด็จมาประทับรอยพระบาทบนดอยพญาพิภักดิ์ พระองค์ท่านได้ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก แล้วตรัสว่า “นี่คือป่าของฉัน
     
       นับแต่นั้นมาชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลรักษาพื้นป่าแห่งนี้ไว้ให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์ มากไปด้วยพืชพรรณไม้ กล้วยไม้ป่า นกนานาชนิด ที่ชาวบ้านที่นี่เขาวางแผนว่าในอนาคตถ้ามีความพร้อม พวกเขาจะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติ ในผืนป่าในหลวงเพิ่มอีกจุดหนึ่ง
     
       สำหรับป่าในหลวงเท่าที่ผมไปสัมผัสมาที่นี่เปรียบดังโอเอซิสสีเขียวของชุมชนทีเดียว เพราะในขณะที่บริเวณรอบข้างถูกพักล้างถางพงแต่ผืนป่าแห่งนี้กลับยังคงสภาพร่มรื่นเขียวครึ้ม นับเป็นผืนป่าใต้พระบารมีของพ่อหลวงอย่างแท้จริง
จุดประทับรอยพระบาทของในหลวง
       และนี่ก็คือเรื่องราวบางส่วนของภูหลงถังที่แม้หลายสิ่งหลายอย่างอาจจะยังดูขาดตกบกพร่อง ไม่ลงตัวเข้าที่เข้าทาง เพราะนี่เพิ่งเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เอี่ยม ชาวบ้านยังไม่มีประสบการณ์ แต่พวกเขาก็มีความตั้งใจและมีความหวังในการที่จะพัฒนาชุมชนของพวกเขาในน่าอยู่น่าเที่ยวยิ่งขึ้น
     
       ที่สำคัญคือการขึ้นมาแอ่วที่นี่มันทำให้ผมได้สัมผัสกับการแสดงออกถึงความเคารพเทิดทูนและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อเห็นแล้วผมอดนึกถึงคนกลุ่มหนึ่งในบ้านเราไม่ได้
     
       คนกลุ่มนี้นิยมสร้างวาทะกรรมสวยหรู อ้างสิทธิเสรีภาพ อ้างประชาธิปไตย อ้างเมืองนอก อ้างความเป็นวิชาการ เพื่อให้ตัวเองดูดี แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่พวกเขาแสดงออกมาต่อสาธารณะชนคนไทยส่วนใหญ่(ยกเว้นในกลุ่มพวกเขาที่ยกหางกันเอง) กลับเต็มไปด้วยอีโก้ที่ทะลักทะล้น(รูทวาร)
     
       คนกลุ่มนี้แม้หลายคนจะดูเปลือกนอกมีสถานะทางสังคมที่ดีกว่าชาวบ้านที่นี่ แต่ก็ไม่รู้ว่าผีห่าซาตานอะไรดลใจให้พวกเขามีความตรรกะที่บิดเบี้ยวและมีความคิดหลงทางจนสุดกู่
      
       สุดกู่ถึงขนาดกล้าเนรคุณต่อแผ่นดินตัวเองได้
      
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น